รู้จักกับ HIV และ AIDS

สวัสดีทุกคน! วันนี้เรามีข่าวดีมาบอกเกี่ยวกับโปรแกรมเจ๋งๆ ชื่อ “Stand by You” ที่จะมาช่วยให้เราดูแลสุขภาพและตรวจ HIV ด้วยตัวเองได้ง่ายๆ แถมยังมีที่ปรึกษาออนไลน์ผ่าน LINE ด้วยนะ!

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับเอชไอวี/เอดส์กันก่อน

HIV (Human Immunodeficiency Virus) คือไวรัสที่ทำลายระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของเรา เมื่อเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกาย มันจะเข้าไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาว (CD4) ซึ่งเป็นเซลล์หลักที่ช่วยให้ร่างกายสามารถต่อสู้กับเชื้อโรคต่างๆ ได้ ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง เมื่อภูมิคุ้มกันถูกทำลายมากขึ้น ผู้ติดเชื้อจะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคอื่นๆ ที่เรียกว่า “การติดเชื้อฉวยโอกาส” เช่น วัณโรค โรคปอดบวม หรือการติดเชื้อราในสมอง

หากปล่อยให้เชื้อ HIV ทำลายระบบภูมิคุ้มกันอย่างต่อเนื่องโดยไม่รักษา จะเข้าสู่ระยะของ AIDS (Acquired Immunodeficiency Syndrome) ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายของการติดเชื้อ HIV ในระยะนี้ ร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันต่ำมาก และสามารถเสียชีวิตได้จากโรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น

ติดเชื้อ HIV ผ่านทางไหน?

  • การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน: โดยเฉพาะการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักและช่องคลอด เพราะเนื้อเยื่อบริเวณเหล่านี้บางและมีโอกาสฉีกขาดได้ง่าย ตัวอย่างเช่น คู่รักชาย-ชายที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักโดยไม่สวมถุงยางอนามัย เป็นกลุ่มเสี่ยงที่พบอัตราการติดเชื้อสูง
  • การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน: เช่น การใช้เข็มฉีดยาเสพติดร่วมกัน การสักลาย หรือการเจาะหูที่ใช้เข็มซ้ำโดยไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อ อาจทำให้เชื้อ HIV เข้าสู่กระแสเลือดได้โดยตรง
  • การถ่ายทอดจากแม่สู่ลูก: แม่ที่ติดเชื้อ HIV สามารถถ่ายทอดเชื้อไปยังลูกได้ขณะตั้งครรภ์ ขณะคลอด หรือผ่านการให้นมบุตร แต่ในปัจจุบันสามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยการให้ยาต้านไวรัสแก่แม่และการงดให้นมลูก

ติดแล้วอาการเป็นยังไง?

คุณเอก นามสมมุติ อายุ 28 ปี เขาเคยมีไข้ เจ็บคอ และผื่นขึ้นช่วง 1 สัปดาห์หลังมีเพศสัมพันธ์กับคู่รักใหม่ เขาคิดว่าเป็นแค่ไข้หวัดธรรมดา แต่หลังจากนั้นหลายปี เขากลับเริ่มมีอาการปวดต่อมน้ำเหลืองบ่อยขึ้น จนกระทั่งตรวจพบว่าเขาติดเชื้อ HIV

ผู้ที่ติดเชื้อ HIV ในระยะแรกอาจไม่มีอาการที่ชัดเจนเลย ใน “ระยะติดเชื้อเฉียบพลัน” บางรายอาจมีไข้สูง ปวดศีรษะ เจ็บคอ ต่อมน้ำเหลืองโต มีผื่นขึ้นตามตัว และรู้สึกเหนื่อยง่าย ซึ่งมักจะหายไปใน 1-2 สัปดาห์ อาการเหล่านี้คล้ายกับอาการไข้หวัดใหญ่ ทำให้หลายคนไม่รู้ว่าตนเองติดเชื้อ HIV หากไม่ตรวจรักษา เชื้ออาจจะอยู่ในร่างกายเป็นเวลาหลายปีโดยไม่แสดงอาการ และเเพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้

การป้องกันและรักษา

  1. ยาต้านไวรัส (ART): ยาต้านไวรัส (ART – Antiretroviral Therapy) เป็นการรักษาที่ช่วยยับยั้งการแพร่กระจายของไวรัสในร่างกาย ทำให้จำนวนไวรัสในกระแสเลือดลดลงจนไม่สามารถตรวจพบได้ (Undetectable Viral Load) และลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ ตัวอย่างเช่น หากผู้ติดเชื้อ HIV เริ่มการรักษาด้วย ART ตั้งแต่เนิ่นๆ และทานยาอย่างเคร่งครัด ร่างกายจะสามารถควบคุมไวรัสได้ และมีโอกาสสูงที่พวกเขาจะสามารถมีชีวิตได้ยืนยาวเทียบเท่าคนทั่วไป
  2. การป้องกันก่อนสัมผัสเชื้อ (PrEP): PrEP (Pre-Exposure Prophylaxis) เป็นยาป้องกันการติดเชื้อ HIV สำหรับผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อ แต่มีความเสี่ยงสูง เช่น คนที่มีคู่รักติดเชื้อ HIV หรือคนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ โดย PrEP จะช่วยป้องกันการติดเชื้อ HIV ได้สูงถึง 90% หากทานอย่างสม่ำเสมอ เช่น คุณบีม อายุ 26 ปี ที่ทาน PrEP เป็นประจำเพราะมีแฟนที่ติดเชื้อ HIV และทำให้เขามั่นใจมากขึ้นในความปลอดภัยของตัวเองและคู่รัก
  3. การใช้ถุงยางอนามัย: ถุงยางอนามัยไม่เพียงแค่ช่วยป้องกันการติดเชื้อ HIV เท่านั้น แต่ยังป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ เช่น ซิฟิลิส หนองใน และไวรัส HPV ได้อีกด้วย การสวมถุงยางอนามัยที่ถูกวิธีและทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์เป็นวิธีที่ง่ายและปลอดภัยที่สุดในการป้องกัน
  4. การรักษาด้วย PEP (Post-Exposure Prophylaxis): PEP เป็นยาต้านไวรัสที่ต้องเริ่มใช้ภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากสัมผัสกับเชื้อ เช่น การถูกเข็มที่มีเลือดติดเชื้อทิ่ม หรือหลังจากมีเพศสัมพันธ์ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ การใช้ PEP ช่วยลดโอกาสการติดเชื้อได้อย่างมากหากเริ่มทันเวลา

ข้อควรระวัง

หากไม่รักษา HIV จะทำให้จำนวนเม็ดเลือดขาว CD4 ลดลงเรื่อยๆ และทำให้ร่างกายอ่อนแอ เช่น คุณสมชาย นามสมมุติ อายุ 35 ปี ที่ตรวจพบ HIV แต่ไม่รักษา ต่อมาภายในเวลา 2 ปี เขาเริ่มมีปัญหาสุขภาพ เช่น โรคปอดบวม ติดเชื้อในสมอง และน้ำหนักลดลงอย่างมาก จนเข้าสู่ระยะ AIDS ในที่สุด

แย่แล้ว! พลาดติดเชื้อขึ้นมาจะทำอย่างไรดี

ในปัจจุบัน ผู้ที่ติดเชื้อ HIV สามารถมีชีวิตได้ปกติเหมือนคนทั่วไป หากดูแลตัวเองดีๆ ด้วยการทานยาต้านไวรัสและตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เช่น คุณเจ นามสมมุติอีกแล้ว อายุ 30 ปี ที่ติดเชื้อ HIV มานานกว่า 10 ปี แต่ยังสามารถออกกำลังกาย ทำงาน และมีชีวิตครอบครัวที่มีความสุขได้ เนื่องจากเขาใส่ใจในการทานยาตามกำหนดเวลา และมีทัศนคติที่ดีต่อการดูแลสุขภาพตัวเอง

การตรวจ HIV ด้วยตัวเอง

ในปัจจุบันการตรวจ HIV ด้วยตัวเองสามารถทำได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น ตัวอย่างอุปกรณ์ที่ใช้กันมากคือ การตรวจแบบใช้เลือด ซึ่งสามารถทำได้ที่บ้านและให้ผลที่แม่นยำในเวลาไม่ถึง 20 นาที และ การตรวจแบบใช้สารคัดหลั่งจากช่องปาก ที่ไม่เจ็บและใช้งานง่าย ผลตรวจเหล่านี้จะช่วยให้คนที่มีความเสี่ยงสามารถรู้สถานะของตัวเองได้เร็วขึ้น

ร่วมสร้างสังคมสุขภาพดีไปด้วยกัน

การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ HIV และการเข้าถึงการตรวจและการรักษา จะช่วยให้สังคมของเราเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยและเข้าใจผู้ติดเชื้อมากยิ่งขึ้น หากสนใจปรึกษาหรืออยากรู้ข้อมูลเพิ่มเติม ทักมาคุยกันใน LINE ของโปรแกรม “@standbyyou” ได้เลย!

เพราะสุขภาพดี เริ่มต้นที่ความรู้และการดูแลตัวเองอย่างถูกวิธี เรามาร่วมกันสร้างสังคมที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อทุกคนกันเถอะ!

บทความที่เกี่ยวข้อง

  • ห่วงอนามัย (IUD) เป็นอุปกรณ์คุมกำเนิดรูปตัว T ที่แพทย์ใส่ในมดลูก มี 2 แบบ คือ แบบมีฮอร์โมนและแบบหุ้มทองแดง สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้นาน 3-10 ปี ด้วยประสิทธิภาพสูงถึง 99% ข้อดีคือใช้ง่าย ไม่ต้องดูแลบ่อย แต่ต้องให้แพทย์เป็นผู้ใส่และถอดเท่านั้น และไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ จึงควรใช้ถุงยางอนามัยร่วมด้วย

  • วงแหวนคุมกำเนิด ทางเลือกใหม่ที่สะดวกสบาย ใส่ง่ายในช่องคลอดเพียง 3 อาทิตย์ ถอดพัก 1 อาทิตย์ ช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้ถึง 99% โดยไม่ต้องทานยาทุกวัน แต่ไม่ป้องกันโรคทางเพศสัมพันธ์ ควรใช้ถุงยางร่วมด้วย หากคุณลืมทานยาคุมบ่อยๆ วงแหวนคุมกำเนิดอาจเป็นตัวเลือกที่เหมาะสม อย่าลืมปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เพื่อความปลอดภัยนะคะ

  • ทำความรู้จักยาฝังคุมกำเนิด อุปกรณ์เล็กแต่ทรงพลัง ป้องกันการตั้งครรภ์ได้ถึง 99%! สบายใจไร้กังวล ไม่ต้องกินยาทุกวัน หายห่วงเรื่องการนัดหมาย เพิ่มความสะดวกยาวนานถึง 3 ปี แต่ควรปรึกษาหมอก่อนใช้!